พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถือกำเนิดขึ้นจากการบริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ ของคัทสุมิ คาตามูระ ประธานบริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ภายใต้การแนะนำของ ศาสตราจารย์ คัชสุฮิโร เอะโตะ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ และทันตแพทย์แห่งโตเกียว เมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2554 ซึ่งภายหลังจากการเซ็นสัญญาบริจาคกับอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล) แล้ว บริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ ได้ทำการขนส่งร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ จำนวน 131ชิ้น มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท มายังคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2555 พร้อมทั้งอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญในการจัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของ มนุษย์ โดยทางคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดเตรียมสถานที่ ห้อง 909-910 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 เป็นพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ รวมทั้งจัดเตรียมงบประมาณสำหรับการขนส่งและปรับปรุงสถานที่ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,239,176 บาท(หนึ่งล้านสองแสนสามหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบหกบาทถ้วน) การปรับปรุงห้องพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์และการจัดวางร่างกายและชิ้นส่วน อวัยวะของมนุษย์ รวมแสดงคำอธิบายอวัยวะต่างๆ ได้จัดทำแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2555
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลกและเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดแสดงร่างกาย มนุษย์ด้วยเทคนิค plastinated human bodies ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่ เสียชีวิต ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์เป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย ร่างกายมนุษย์แบบเต็มร่าง จำนวน 13 ชุด ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน จำนวน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะ จำนวน 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ จำนวน 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย จำนวน 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด จำนวน 5 ชิ้น และร่างกายทารกในครรภ์ จำนวน 7 ชุด รวมทั้งสิ้น 131 ชิ้น มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท มีการรักษาสภาพด้วยเทคนิค Plastination ซึ่งเป็นการแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยสารพลาสติกเหลว ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน
พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันพุธ เวลา 12.30-15.30 น. ณ ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 ผู้สนใจเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-8635
ที่มา: http://www.chula.ac.th/visitors/museum/rangkai-manut/index.htm
และรูปจาก :
https://www.google.co.th/
และรูปจาก :
https://www.google.co.th/
ขอขอบพระคุณที่มาของข่าว :
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น