วันนี้(24 ก.พ.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้แต่งตั้งคณะทำงานวิเคราะห์การผลิตนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) โดยมีนายวณิชย์ อ่อมศรี รองเลขาธิการ กอศ. เป็นประธาน เนื่องจากในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาต้องมีครูช่างที่มีความลึกซึ้ง เชี่ยวชาญ ในวิชาชีพที่สอนได้ครอบคลุมทุกวิชาในสาขาที่สอน แต่ที่ผ่านมาการรับครูซึ่งจบระดับปริญญาตรีจะสอนได้เฉพาะบางวิชาในสาขาเท่านั้น เช่น ช่างก่อสร้างต้องทำได้ตั้งแต่ก่ออิฐ ฉาบปูน จนครบวงจรการก่อสร้าง ขณะที่ผู้ที่จบจากสถาปัตยกรรมจะทำได้แค่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ผลิตครู ปทส. โดยเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี ต่อจากระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่เมื่อมี พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พศ. 2546 กำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม สอศ. ก็ได้ปรับปรุงหลักสูตร ปทส. ให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภาและมาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กำหนด โดยเป็นหลักสูตร ปทส. ที่เรียนต่อเนื่อง 3 ปี แต่เมื่อส่งหลักสูตรดังกล่าวไปขอรับรองปริญญาทางการศึกษาจากคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาชี้แจงว่าปริญญาที่คุรุสภารับรองคือปริญญาตรีทางการศึกษาหลักสูตร 5 ปี ไม่มีเกณฑ์การรับรองปริญญาหลักสูตร 3 ปีต่อเนื่อง แต่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยการขอรับรองความรู้ที่มี การเทียบโอน การทดสอบ และฝึกอบรม รวมถึงขอรับรองประสบการณ์วิชาชีพครูเมื่อปฏิบัติการสอนครบ 1 ปี ทั้งๆที่หากดูในรายละเอียดผู้ที่จบ ปทส. ก็จะเรียน 5 ปี เท่ากันคือ จบปวส. 2 ปี มาเรียนต่อ ปทส.อีก 3 ปี
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ครูช่างที่มีทั้งทักษะ ลึกซึ้ง และเชี่ยวชาญ สอนได้ครบครอบคลุมในสาขาวิชาที่สอน และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเช่นเดียวกับผู้ที่จบปริญญาตรีทางการศึกษา สอศ.จะปรับปรุงหลักสูตร ปทส. ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนดทุกประการ ถึงแม้จะใช้เวลาในการเรียนมากกว่า 5 ปี สอศ.ก็จะไม่ลดมาตรฐานลงแต่หากต้องใช้เวลาเรียนเพิ่มก็จะไปผูกพันกับค่าตอบแทนที่ผู้จบจากหลักสูตรดังกล่าวควรได้รับเพิ่ม โดย สอศ. จะเสนอขอเพิ่มเงินค่าตอบแทนตามวุฒิให้แก่ผู้ที่บรรจุเป็นครูของ สอศ. ที่ผ่านจากหลักสูตรนี้ต่อไป ทั้งนี้จะต้องรอดูผลการวิเคราะห์ของคณะทำงานก่อนว่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร ปทส.ต่อเนื่อง 3 ปี 5 สาขาวิชา 6 วิชาเอก มีผู้เรียนทั้งสิ้น 204 คนใน 30 กว่า วิทยาลัย ส่วนมาตรการแก้ไขระยะสั้นเพื่อเพิ่มครูสายอาชีพที่ขาดแคลนอยู่ประมาณ 11,000 คน สอศ.จะใช้วิธีปรับครูอัตราจ้างมาเป็นพนักงานราชการทำหน้าที่ปฏิบัติการสอน ซึ่งที่ผ่านมาทำเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) 2 รอบแล้ว แต่เนื่องจากต้องรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงต้องรอให้มีรัฐบาลชุดใหม่ก่อน.
สำนักข่าวWiFi Phitsanulok
ขอบคุณที่มาของข่าวโดยdailynews.co.th
เวลาโพส2014-02-27 20:55:49
เวลาโพส2014-02-27 20:55:49
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น