วันนี้(24 ก.พ.)ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า ศธ.มีแนวทางจัดการศึกษาของชาติ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาพื้นฐานที่มุ่งพัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุล เพื่อเป็นฐานหลักของการพัฒนาให้คนไทยเป็นคนดี เก่ง มีความสุข มีความรู้เชิงวิชาการ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพ รวมถึงใฝ่เรียนรู้ แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความสุขทั้งกายและใจที่สมบูรณ์ สามารถประกอบอาชีพ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ปลัดศธ.กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้นำแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปปรับใช้ในสถานศึกษาในด้านการบริหารจัดการ เช่น กำหนดนโยบายงานวิชาการ งบประมาณ งานบุคคล บริหารทั่วไป ชุมชนสัมพันธ์ ตลอดจนนำหลักการทรงงานมาปรับใช้ในการบริหารสถานศึกษา บริหารทรัพยากรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การมีส่วนร่วม รู้รักสามัคคี ไม่ประมาท เป็นต้น สำหรับด้านการเรียนการสอนนั้น สถานศึกษามีการสอนวิชา “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กับสาระการเรียนรู้ ส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนได้มีการต่อยอดหรือพัฒนากิจกรรมที่สอดคล้องกับภูมิสังคมและบริบทของสังคม ซึ่งใช้หลักคิดหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักวิชาการอย่างสมเหตุสมผล มีการวางแผนอย่างรอบคอบคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณธรรม
ดร.สุทธศรี กล่าวด้วยว่า ศธ.มีการประเมินสถานศึกษาพอเพียง พบว่า ผลสำเร็จด้านปริมาณ มีสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง จำนวน 10,083 แห่ง มีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา 31 แห่ง ส่วนผลสำเร็จด้านคุณภาพนั้นผู้เรียนจากสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินข้างต้นมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การจัดการความรู้ มีคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีจิตสาธารณะและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขก่อให้เกิดความยั่งยืน อย่างไรก็ตามเห็นว่าในอนาคตการผลิตครูควรต้องมีหลักสูตรการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบบฝังรากลึกอยู่ในตัวผู้เรียนจนเป็นอุปนิสัยด้วย
สำนักข่าวWiFi Phitsanulok
ขอบคุณที่มาของข่าวโดยdailynews.co.th
เวลาโพส2014-02-27 20:56:05
เวลาโพส2014-02-27 20:56:05
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น