อย่าวิตก AEC เกินเหตุ
คำถามจากนักศึกษาที่เรียนด้านการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองพิษณุโลก
ว่ามีความวิตกกังวลอะไรบ้าง เมื่อ AEC เข้ามาประเทศไทย คำตอบของผมก็คือจะไปวิตกกังวลเรื่องอะไร เพราะ AEC
สำหรับผมมันเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรคสำหรับการท่องเที่ยว หลายคนอาจกังวลเรื่องภาษาอังกฤษ
โดยให้เหตุผลว่าเมื่อเปิดประเทศแล้ว ทุกประเทศพูดภาษาอังกฤษได้ ยกเว้นประเทศไทย
ในความรู้สึกของผมนั้นเข้าใจอะไรกันผิดหรือเปล่า จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย ไม่เห็นมีประเทศไหนพูดภาษาอังกฤษกันเลย
พวกเราก็ไปเที่ยวกันอย่างถล่มทลาย
การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ผูกพันกับการใช้ภาษาอังกฤษจริงครับ แต่สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาประเทศไทย
ตั้งแต่โบราณกาล ที่ทำให้เรามีรายได้ เป็นแสนล้าน ไม่ใช่ภาษาอังกฤษครับ แต่เป็นน้ำใจความเป็นนักบริการของคนไทย
เด็กยกกระเป๋า จบ ป.6 พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษไม่ได้ ถึงพูดได้ก็ งูๆ ปลาๆ แต่ฝรั่งให้ทิป ครั้งละ 100 บาท
คงต้องเปิดโลกทัศน์ซะใหม่ให้กับนักศึกษากันแล้วละครับ นักศึกษาสมัยนี้อย่ามัวแต่เก็บตัวอยู่ในกะลา ใครพูดอะไรก็เชื่อหมด
ผมขอฝากไปถึง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดถึงครูบาร์อาจารย์ด้านการท่องเที่ยวว่า
พวกท่านอย่ากังวลมากจนเกินเหตุไปเลยครับเรื่องภาษาอังกฤษ การที่พวกเราจะเลือกไปเที่ยวที่ไหน
เราคงไม่ได้นำแผนที่มากางแล้วเลือกประเทศที่จะไปเที่ยวต้องพูดภาษาอังกฤษได้ การที่ภาครัฐ ภาคเอกชน
ตลอดถึงครูบาร์อาจารย์ด้านการท่องเที่ยว กำลังจะบอกนักศึกษาว่านักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวประเทศไทย
เมื่อรู้ว่าคนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เขาจะเปลี่ยนไปเที่ยว เวียดนาม ลาว พม่า แทน แต่ถ้าบอกว่าเป็นห่วงเรื่องมาตรฐานการให้บริการ
และสถานที่ท่องเที่ยวที่จะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ จะดูดีมีความรู้มากกว่าครับ เพราะต่อให้คนไทยพูดภาษาอังกฤษดีแค่ไหน ถ้าบริการไม่ดี คงไม่มีใครมาเที่ยวหรอกครับ
แต่ถ้าจะถามว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญกับ AEC ไหม ตอบว่าสำคัญสำหรับภาคธุรกิจ ที่ต้องติดต่อทำมาค้าขายกับประเทศอื่น และธุรกิจด้านการท่องเที่ยวสถานที่ประกอบการไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหารใหญ่ๆ พนักงานต้องรู้ภาษาอังกฤษ และพวกเขาก็รู้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว โดยไม่เกี่ยวกับ AEC เลย
แต่แม่ค้าขายกล้วยปิ้งในตลาดคงไม่จำเป็นเท่าไร เพราะทุกวันนี้ฝรั่งที่เดินเที่ยวแถวนั้น ก็ซื้อกล้วยปิ้งด้วยภาษามือ
และรอยยิ้มเขินๆ ของแม่ค้าอยู่แล้ว และนี่คือ เสน่ห์ครับ เสน่ห์ที่เราหาที่อื่นไม่ได้ ยกเว้นประเทศไทย
ผมเคยไปเที่ยวประเทศจีนมาหลายครั้ง เวลาไปซื้อของนอกจากแม่ค้าจีนไม่พูดภาษาอังกฤษแล้วยังพูดภาษาไทยกับผมอีกด้วย
แต่ผมไม่เคยประทับใจเลยเพราะบริการของจีนแย่มาก รอยยิ้มอย่างแม่ค้าไทยไม่มีให้เห็นที่นั้น ถ้าเลือกมากๆ แล้วไม่ซื้ออาจจะถูกด่าด้วยซ้ำไป
แล้วก็วกมาเข้าเรื่องที่ว่าตอนนี้หน่วยงานต่างๆ เกี่ยงกันว่าใครจะเป็นคนอบรมด้านภาษาอังกฤษให้กับ ภาคการท่องเที่ยว
ผมว่ามันเป็นกระบวนความคิดที่แปลกมาก เพราะผมไม่คิดว่าเด็กมหาวิทยาลัยที่ร่ำเรียนถึงปริญญาตรี ปริญญาโท
ด้านการท่องเที่ยวจะมีคำถามแบบนี้ คำถามที่ว่า “หน่วยงานใด รับผิดชอบเรื่องการอบรมภาษาอังกฤษ” คำตอบก็คือ
ไม่มีใครเกี่ยงกันหรอกเรื่องนี้ มีแต่แย่งกันทำ ทางจังหวัดก็มีการอบรม ทางเทศบาลก็มีการอบรม แต่ถามว่าทำไมยังพูดภาษาอังกฤษกันไม่ได้
คำตอบก็คือไม่ควรถามโง่อย่างนี้ ผมถามกลับไปว่า คนที่ เรียนจบปริญญาตรี มีคนพูดภาษาอังกฤษได้กี่คน แล้วการอบรม 2 วัน 5 วัน 1 เดือน
จะให้พูดภาษาอังกฤษได้ คำถามนี้ปัญญาอ่อนมากๆ และไม่ขอตอบ
กลับมาบทสรุปครับว่า การเปิด AEC มีความน่าวิตกอะไรอีก ผมวิตกว่า ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดถึงครูบาร์อาจารย์ด้านการท่องเที่ยว
จะวิตกกันจนเกินเหตุ การเปิด AEC ไม่ใช่ระเบิดเวลาที่พอเปิดปุ๊ป ทุกอย่างจะประเดประดัง ระเบิดกันเปรี้ยงปร้าง
ซึ่งเราสามารถปรับตัวได้ เพราะทุกวันนี้ การผ่านเข้ามา ของโลกไร้พรหมแดน มันมากัน 10 กว่าปีแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเท่าไหร่เลย
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาบ้านเรา ปีละประมาณ แสนกว่าคน มาเป็น 40 ปีแล้ว มาตั้งแต่รุ่นที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เช่นกัน
ขอร้องอย่าดูถูกคนไทยกันเลย คนไทยไม่เคยเป็นรองใครในโลกใบนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจและจะเป็นโอกาสสำหรับการท่องเที่ยวสำหรับผม
คือ เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ เส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของภูมิภาคแถบนี้
ไม่ใช่ต่างคนต่างขายแต่ขายร่วมกันเหมือนเราเป็น 1 ประเทศ เสียเวลามา 7 วันเที่ยวได้ 5 ประเทศ เหมือนยุโรปไงครับ นี่ต่างหาก
สิ่งที่ผมว่า ภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรรีบดำเนินการ อย่าให้ใครมาฉกโอกาสทองนี้ไปก่อน แล้ว
นอนละเมอเพ้อพกว่า นักท่องเที่ยวไม่มาประเทศไทยเพราะเราพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น
ขอพระคุณครองทุกท่าน
ส.ต.กริช พลเดชวิสัย
ข่าวโดย :
นายสุทธิภัทร ชูสกุลพัฒนา
บรรณาธิการข่าว ออนไลน์ หนังสือพิมพ์กริชโพสต์
บรรณาธิการข่าว ออนไลน์ สำนักข่าว WiFi Phitsanulok
และAdmin Blogger @ สำนักข่าว WiFi Phitsanulok,
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น